Breaking News

มหาวิทยาลัยขอนแก่นแถลงความสำเร็จโครงการวิจัย “Ugly Veggies Plus” พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคธุรกิจ

 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานแถลงข่าวความสำเร็จของ โครงการวิจัย “Ugly Veggies Plus –การต่อยอดแบบจำลองธุรกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยี การตรวจสอบย้อนกลับและเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำ เพื่อการจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการส่งออกของสินค้าอาหารอินทรีย์อย่างยั่งยืน” และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการ

รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณินี นฤธาราดลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยั่งยืน วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “โครงการ Ugly Veggies Plus มุ่งแก้ไขปัญหาขยะอาหาร ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญของโลกและประเทศไทย เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้ทรัพยากรถูกใช้อย่างสูญเปล่า โครงการนี้ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ โดยมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนจากขยะอาหารให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ดินพร้อมปลูก โปรตีนบาร์สุขภาพ และหลอดพลาสติกย่อยสลายได้ ซึ่งช่วยลดปริมาณของเสียและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์ เพื่อให้เป็นเศรฐกิจหมุนเวียนและเป็น Zero Waste อย่างแท้จริง”
นอกจากนี้ โครงการยังได้พัฒนาเทคโนโลยี Blockchain Traceability เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการตรวจสอบย้อนกลับวัตถุดิบจากขยะอาหาร สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค รวมถึงใช้ Life Cycle Assessment (LCA) และ Carbon Footprint เพื่อประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ และพัฒนากลยุทธ์เพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โครงการของเรายังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเครือข่ายเกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรม โดยสามารถสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์นำร่องกว่า 1.33 ล้านบาทในระยะเวลา 3 ปี อีกทั้งยังขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการกว่า 100 ราย ที่นำแบบจำลองของโครงการไปปรับใช้ในเชิงพาณิชย์”

 ผลการวิจัยของโครงการ Ugly Veggies Plus แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการพัฒนาโมเดลธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่สามารถนำไปใช้จริงในภาคอุตสาหกรรม ช่วยให้ธุรกิจสามารถลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผลลัพธ์ที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากขยะอาหารที่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ การออกแบบระบบตรวจสอบย้อนกลับด้วยเทคโนโลยี Blockchain เพื่อสร้างมาตรฐานและความโปร่งใสในอุตสาหกรรม การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมผ่าน LCA และ Carbon Footprint ซึ่งช่วยให้ผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย เกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อขยายผลแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์
ภายในงานแถลงข่าวมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และจัด Business Talk เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถนำเทคโนโลยีและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้ในระบบการผลิตจริง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์อย่างยั่งยืนและแข่งขันได้ในตลาดโลก
โครงการ Ugly Veggies Plus จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำ ที่สามารถต่อยอดไปสู่ระบบนิเวศทางธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์ของประเทศไทยในระยะยาว

ไม่มีความคิดเห็น